univerzita.net

How to ทำแผนผังความคิด (Mind Mapping) อย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

December 20, 2018 by Stanley Evans

หลายคนอาจจะคิดว่าการทำแผนผังความคิดนั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และซับซ้อน แต่จริง ๆ แล้ว ไม่ใช่เลย เพราะการทำแผนผังความคิดนั้น ก็คือการจัดลำดับ หรือจัดหมวดหมู่ คิดวิเคราะห์เชื่อมโยงเนื้อหานั้น ๆ ให้เป็นระบบ เพื่อง่ายต่อการเรียนรู้ของสมองคนเรา ดังนั้นการทำแผนผังความคิดใคร ๆ ก็สามารถทำได้ ไม่ยากอย่างที่คิด

ทำแผนผังความคิด (Mind Mapping) เริ่มจากตรงไหน

การทำแผนผังความคิดควรเริ่มจากการวาดภาพในหัว หรือที่เรียกว่ามโนทัศน์ โดยกำหนดมโนทัศน์หลักตรงกึ่งกลางหน้ากระดาษ แล้วเขียนหรือวาดมโนทัศน์รองที่สัมพันธ์กับมโนทัศน์หลักไปรอบ ๆ เชื่อมโยงมโนทัศน์ย่อยที่สัมพันธ์กับมโนทัศน์รองแตกออกไปเรื่อย ๆ ใช้ภาพหรือสัญลักษณ์สื่อความหมายเป็นตัวแทนความคิดให้มากที่สุด เขียนคำสำคัญ บนเส้นและเส้นต้องเชื่อมโยงกัน กรณีใช้สี ทั้งมโนทัศน์รองและย่อยควรเป็นสีเดียวกัน คิดอย่างอิสระมากที่สุดขณะทำ

ทำอย่างไรจึงจะเป็นแผนผังความคิด (Mind Mapping) พิชิตความสำเร็จ

ขั้นตอนแรกให้เตรียมกระดาษเปล่า ใหญ่ ๆ แบบไม่มีเส้น และให้วางในแนวนอน เพราะเส้นจะทำให้เกิดการตีกรอบ กั้นความคิด และการอ่านแนวนอนนั้นง่ายกว่าแนวตั้ง เตรียมปากกาสีสันสวย ๆ เพราะสีจะช่วยกระตุ้นความคิดได้มากกว่าด้วย จากนั้นวาดภาพหรือเขียนหัวข้อหลักไว้ตรงกลางหน้ากระดาษ พยายามไม่ล้อมกรอบ ซึ่งจะไปปิดกั้นความคิด โดยควรทำให้สิ่งที่อยู่ตรงกลางโดดเด่น เพื่อสร้างความจดจำ และกระตุ้นความคิด สีสดใส ใส่อารมณ์ แล้ววาดกิ่งใหญ่ แตกแขนงออกมาจากภาพตรงกลางซึ่งกิ่งใหญ่นี้จะเป็นตัวแทนของหัวข้อหลักที่เกี่ยวกับตรงกลาง โดยที่แรกเริ่มยังไม่ต้องคิดมากกว่าจะแตกกิ่งอะไรดี จะถูกหรือไม่ ให้ใช้หลักการ Brainstorming คือ ให้พยายามคิดออกมาเยอะ ๆ คือเน้นปริมาณก่อน จากนั้นค่อยมาเลือกทีหลัง

เทคนิคที่สำคัญของการแตกหัวข้อกิ่งใหญ่ คือ แต่ละหัวข้อควรเป็นประเด็นที่ไม่ซ้ำกัน และเมื่อทุกหัวข้อรวมกัน จะทำให้เราเห็นทุกประเด็นของหัวข้อหลักจนครบ แต่ละกิ่งใหญ่ควรใช้สีแยกกัน และกิ่งย่อยที่แตกจากสีไหน ก็ให้ใช้สีเดียวกันเพื่อให้เกิดการจัดกลุ่ม  เส้นกิ่งใหญ่ให้วาดเป็นเส้นหนา ๆ ให้วาดภาพหรือเขียน Keyword หรือของหัวข้อกิ่งใหญ่ในตำแหน่งเหนือกิ่งแต่ละอัน โดยไม่ควรเขียนหัวข้อไว้ปิดปลายกิ่ง เพราะจะเป็นการปิดกั้นความคิด ส่วนตรงหัวข้อตรงกิ่งใหญ่ สามารถแตกกิ่งออกเป็นสิ่งเหล่านี้ได้ในสถานการณ์ต่าง ๆ กัน

ข้อควรระวังในการสร้าง Mind map

ในการทำแผนผังความคิด ควรใช้ภาพให้มากที่สุด เพราะสมองของคนเราจดจำเป็นภาพ และช่วยดึงดูดสายตาได้ดี ควรเขียนคำบรรจงตัวใหญ่ ๆ ถ้าเป็นภาษาอังกฤษให้ใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ จะช่วยให้เราประหยัดเวลาได้ เมื่อย้อนกลับไปอ่านอีกครั้ง อีกประการหนึ่งคือเขียนคำเหนือเส้นใต้ แต่ละเส้นต้องเชื่อมต่อกับเส้นอื่น ๆ เพื่อให้ Mind Map มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ คำควรมีลักษณะเป็น “หน่วย” เปิดทางให้ Mind Map คล่องตัวและยืดหยุ่นได้มากขึ้น และควรใช้สีทั่ว Mind Map เพราะสีช่วยยกระดับความคิด และกระตุ้นสมองซีกขวาเพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ให้สมองเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น นี่จึงเป็นเทคนิคการทำแผนผังความคิดที่สำคัญ ที่เราสามารถนำไปปรับใช้กับการเรียน การดำเนินชีวิต และการทำงานได้

Posted in: สาระน่ารู้ Tagged: Mind Mapping, เทคนิค, แผนผังความคิด

Copyright © 2023 univerzita.net.

Omega WordPress Theme by ThemeHall